หลักการตลาดแบบดั้งเดิมที่ Edmund Jerome McCarthy ศาสตราจารย์ด้านการตลาดชื่อดังแห่งสหรัฐอเมริกา ได้อธิบายไว้ตามสูตรส่วนผสมทางการตลาด (Marketing Mix) คือ 4P’s ประกอบด้วย Product, Price, Place และ Promotion
แต่หลักการที่ว่าใช้มาตั้งแต่ปี 1960 จึงไม่แปลกที่ในปัจจุบันจะมีหลักการตลาดใหม่ที่น่าสนใจ และสามารถปรับใช้ได้เหมาะกับยุคปัจจุบันมากกว่าคือ 4E’s เราจึงอยากมาเล่าให้ฟังว่าหลักการนี้คืออะไร
1. Product >> “Experience”
ทุกวันนี้ผู้บริโภคไม่ได้คาดหวังแค่สินค้าหรือบริการเท่านั้น ตัวอย่างที่เห็นกันง่ายๆ คือทำไมบางคนถึงยอมจ่ายเงินซื้อรถหรูหลักหลายล้าน หรือเลือกจ่ายแพงกว่าเพื่อนั่งเครื่องบินระดับ First class นั่นเป็นเพราะต้องการประสบการณ์ที่ดีกว่า สะดวกสบายกว่าและสร้างความสุขได้มากกว่า ซึ่งประสบการณ์ที่ว่านี้มาจากการนำเสนอภาพลักษณ์ของแบรนด์และการสร้างความรู้สึกเกี่ยวข้องกับบริษัท ดังนั้นการเอาชนะคู่แข่งทางการตลาดในยุคนี้คงไม่พ้นเรื่องของการ “สร้างประสบการณ์” เพื่อให้เกิดผลลัพธ์แบบที่ผู้บริโภคจะต้อง “หลงรัก” และอยู่กับเราไปยาวนาน
2. Price >> “Exchange”
ก่อนหน้านี้การตั้งราคาสินค้ามาจากต้นทุนการผลิตเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงมักแข่งกันด้วยการลดราคาต้นทุน เพื่อให้สินค้าสามารถขายได้ในราคาที่ถูกกว่าคู่แข่งในตลาด แต่ในปัจจุบันเมื่อพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนไม่ได้ให้ความสำคัญที่ราคาเป็นหลัก แต่หันไปให้ความสนใจเรื่อง “ความคุ้มค่า” มากกว่า เปรียบเหมือนกับการแลกเปลี่ยนความพึงพอใจของทั้งสองฝ่ายระหว่างตัวธุรกิจและผู้บริโภค ซึ่งไม่ว่าสินค้าราคาเท่าไหร่ แต่ถ้าผู้บริโภคชั่งใจแล้วว่าคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป ก็ย่อมอยากซื้อสินค้านั้นๆ
3. Place >> “Everywhere”
ในอดีต ถ้าอยากทำธุรกิจต้องมีหน้าร้านและมองหาทำเลเหมาะๆ สำหรับขายสินค้า แต่ในปัจจุบัน หน้าร้านอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้เชื่อมต่อผู้ขายสินค้าและลูกค้าเข้าด้วยกัน ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้จากทุกหนทุกแห่งทั่วโลกเพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต ดังนั้นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากที่สุดในการทำการตลาดออนไลน์ จึงเปลี่ยนจากหน้าร้านไปเป็นเว็บไซต์ อีคอมเมิร์ชแพลตฟอร์ม หรือโมบายแอปพลิเคชัน รวมไปถึงการเน้นสร้าง Customer Journey และ Experience บนออนไลน์แพลตฟอร์ม
4. Promotion >> “Evangelism”
การออกแคมเปญลด แลก แจก แถม แบบการตลาดสมัยก่อนอาจไม่ได้รับความนิยมมากนักในปัจจุบัน เนื่องจากผู้บริโภคยุคใหม่มักมีความพึงพอใจหรือความชอบในแบรนด์ที่บริโภคเป็นประจำอยู่แล้ว หรือที่เรียกว่า “Evangelism (สาวก)” ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็หมายถึง “Brand Loyalty” นั่นเอง ดังนั้นกลยุทธ์การชิงส่วนแบ่งตลาดแบบเดิม ๆ อาจใช้ไม่ได้ผล หากเรายังไม่สามารถเปลี่ยนลูกค้าขาจรให้กลายเป็นลูกค้าขาประจำได้
เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ พฤติกรรมผู้บริโภคเองก็เช่นกัน ดังนั้นกรอบการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดแบบเดิม ๆ จึงต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย การนำหลักการตลาดแบบ 4E’s ซึ่งประกอบด้วย Experience, Exchange, Everywhere และ Evangalism เข้ามาใช้ จึงน่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจคว้าใจผู้บริโภคและเติบโตต่อเนื่องในระยะยาว